7 January 2021

7 เรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่ Startup ควรเรียนรู้ก่อนออกสตาร์ท (บทที่ 2)

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญทางกฎหมายและธุรกิจที่ สตาร์ทอัพ ควรเรียนรู้ก่อนออกสตาร์ทไปแล้ว 3 ข้อ ยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ ต้องเรียนรู้อีก 4 ข้อ ก่อนที่จะเริ่มต้นธุรกิจ

4. การป้องกันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

สตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เป็นส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยงที่คุณจะสูญเสียสิทธิ์ในทรัพย์สินที่คุณรังสรรค์ขึ้นมาอย่างยากลำบากเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น คุณต้องมีความเข้าใจตั้งแต่เริ่มแรกถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ที่คุณเป็นเจ้าของ (เช่น เครื่องหมายทางการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือความลับทางการค้า) และวิธีที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิได้

ในมุมมองของนักลงทุน นักลงทุนต้องการจะเห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณได้รับการคุ้มครอง และมีบริษัท สตาร์ทอัพ เป็นเจ้าของ เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเอง โดยไม่ได้ยกให้กับบริษัท ดังนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นควรที่จะโอนไปยังบริษัท นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งควรแน่ใจว่ามีข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานอย่างชัดเจนว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างขึ้นโดยลูกจ้าง ระหว่างการจ้างงานให้ตกเป็นของบริษัทโดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อตกลงเช่นนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากลูกจ้างเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ ที่ได้สร้างขึ้นระหว่างการจ้างงานของตน

การพิจารณาเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องกระทำตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณารายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าลงทุน

5. สัญญาจ้างแรงงาน

ลูกจ้างถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินของคุณ แม้ว่าธุรกิจ สตาร์ทอัพ มักเริ่มต้นจากลูกจ้างจำนวนไม่กี่คน แต่คุณควรที่จะทำสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นเพื่อนของคุณก็ตาม

สัญญาจ้างแรงงานไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่ยืดยาว แต่อย่างน้อยควรมีข้อกำหนดพื้นฐานเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน เช่น ขอบเขตการทำงาน วันและเวลาทำงาน อัตราเงินเดือน ช่วงระยะเวลาทดลองงาน (ถ้ามี) อัตราเงินโบนัส สิทธิอื่นๆ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาความลับ ข้อกำหนดการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเรื่องอื่นๆ ที่ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ควรจัดหาให้ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน รวมทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

นักลงทุนคาดหวังว่า สตาร์ทอัพ จะได้มีการจัดการภายในและจัดทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างเรียบร้อย หากคุณไม่มีการจัดเตรียมสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว คุณควรจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่นักลงทุนจะเข้ามาตรวจสอบสถานะของบริษัท หากไม่สามารถจัดการในประเด็นเบื้องต้นนี้ได้ นักลงทุนอาจมองว่า สตาร์ทอัพ มีระบบการจัดการที่ยังไม่พร้อมและไม่มีความเป็นมืออาชีพ และท้ายที่สุดอาจทำให้คุณเสียโอกาสที่ได้รับความเชื่อมั่นจากเหล่านักลงทุน

6. ปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ

เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภทมีกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลแตกต่างกันออกไป เช่น ด้านการเงินและการธนาคาร ด้านอาหาร ด้านการศึกษา ด้านธุรกิจประกัน ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร และด้านการท่องเที่ยว สตาร์ทอัพ จึงควรที่จะศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน รวมถึงการขอใบอนุญาตหรือใบรับรองสำหรับการประกอบกิจการที่จำเป็นต้องมี ซึ่งหนึ่งในกฎหมายล่าสุดที่อาจกระทบต่อธุรกิจเกือบทุกประเภทในประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดย สตาร์ทอัพ ทั้งหลายที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่นหรือคุกกี้จะต้องเตรียมขอความยินยอมจากลูกค้าในการเก็บรวบรวม การใช้งาน หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่อบุคคลอื่นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งจะมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 หากละเมิดจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

7. ระมัดระวังข้อตกลงเรื่องการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ความสามารถในการระดมทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สตาร์ทอัพ ต่างๆ สามารถเติบโตได้ แต่การช่วงชิงเพื่อหาเงินทุนอาจทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ ต้องเข้าทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือ Term Sheet กับตัวแทนหานักลงทุนที่มีข้อตกลงที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งตัวแทนหานักลงทุนเป็นบริษัทที่มักอ้างว่าตนมีเครือข่ายกับนักลงทุนที่มีศักยภาพที่ต้องการลงทุนกับธุรกิจ สตาร์ทอัพ ดังนั้น ก่อนที่ผู้ก่อตั้งจะเข้าร่วมทำสัญญาใดๆ กับตัวแทนหานักลงทุน ผู้ก่อตั้งควรทำการตรวจสอบสถานะของอีกฝ่ายอย่างเพียงพอว่า ตัวแทนหานักลงทุนเคยประสบความสำเร็จในการหานักลงทุนให้ธุรกิจ สตาร์ทอัพ มาก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คล้ายหรือเหมือนกันกับธุรกิจของคุณ

ผู้ก่อตั้งควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนลงนามในสัญญาใดๆ ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้ “สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusivity Provisions)” ซึ่งจะทำให้ผู้ก่อตั้งไม่สามารถหานักลงทุนจากช่องทางอื่นได้ในช่วงระยะเวลาที่ให้สิทธิดังกล่าว และที่สำคัญ ก่อนที่จะลงนามในสัญญาใดๆ ที่ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวกับตัวแทนหานักลงทุน สตาร์ทอัพ ควรตกลงเกี่ยวกับข้อกำหนดทั่วไปของการลงทุน รวมทั้งการประเมินมูลค่าและจำนวนของหุ้นที่จะให้แก่นักลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพ ควรกำหนดระยะเวลาในการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวให้สั้น มิฉะนั้นแล้วธุรกิจ สตาร์ทอัพ ของคุณจะไม่สามารถหานักลงทุนด้วยตัวเองได้ และหากผู้ก่อตั้ง สตาร์ทอัพ ได้มีการหารือหรือตกลงกับนักลงทุนรายอื่นในระหว่างที่เข้าทำสัญญากับตัวแทนหานักลงทุน นักลงทุนรายนั้นควรได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของข้อตกลงในการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว